เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [8. อัฏฐมวรรค] 4. กามกถา (76)
4. กามกถา (76)
ว่าด้วยกาม
[513] สก. อายตนะ 5 เท่านั้นเป็นกามใช่ไหม
ปร.1 ใช่2
สก. ความพอใจที่เกี่ยวกับอายตนะ 5 นั้นมีอยู่มิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. หากความพอใจเกี่ยวกับอายตนะ 5 นั้นมีอยู่ ท่านก็ไม่ควรยอมรับ
ว่า “อายตนะ 5 เท่านั้นเป็นกาม”
สก. ความกำหนัด ความพอใจ ความกำหนัดและความพอใจที่เกี่ยวกับอายตนะ
5 นั้น ... ความดำริ ความกำหนัด ความดำริและความกำหนัดที่เกี่ยวกับอายตนะ
5 นั้น ... ปีติ โสมนัส ปีติและโสมนัสที่เกี่ยวกับอายตนะ 5 นั้น มีอยู่มิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. หากปีติและโสมนัสที่เกี่ยวกับอายตนะ 5 นั้นมีอยู่ ท่านก็ไม่ควรยอม
รับว่า “อายตนะ 5 เท่านั้นเป็นกาม”
[514] ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “อายตนะ 5 เท่านั้นเป็นกาม” ใช่ไหม
สก. ใช่
ปร. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ 5 ประการนี้
5 ประการ อะไรบ้าง คือ (1) รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ฯลฯ (5) โผฏฐัพพะที่พึงรู้
แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ 5 ประการนี้”3 มีอยู่จริงมิใช่หรือ
สก. ใช่

เชิงอรรถ :
1 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายปุพพเสลิยะ (อภิ.ปญฺจ.อ. 513/236)
2 เพราะมีความเห็นว่า อายตนะ 5 มีรูปายตนะ เป็นต้น ยกเว้นธัมมายตนะ ชื่อว่ากาม กิเลสกามไม่ชื่อว่า
กาม (อภิ.ปญฺจ.อ. 513/236)
3 ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) 18/267/296

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :550 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [8. อัฏฐมวรรค] 4. กามกถา (76)
ปร. ดังนั้น อายตนะ 5 เท่านั้นจึงเป็นกาม
สก. อายตนะ 5 เท่านั้นเป็นกามใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ 5 ประการนี้
กามคุณ 5 ประการอะไรบ้าง คือ (1) รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ฯลฯ (5) โผฏฐัพพะ
ที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจ
ให้กำหนัด ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ 5 ประการนี้ ภิกษุทั้งหลาย แต่สิ่งเหล่านี้
ไม่เรียกว่ากาม สิ่งเหล่านี้เรียกว่ากามคุณ ในอริยวินัย
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
สังกัปปราคะของบุรุษ ชื่อว่ากาม1
อารมณ์ที่วิจิตรทั้งหลายในโลกไม่ชื่อว่ากาม
สังกัปปราคะของบุรุษ ชื่อว่ากาม
อารมณ์ที่วิจิตรทั้งหลายในโลก
ตั้งอยู่ตามสภาพของตนเท่านั้น
แต่ธีรชนทั้งหลาย ย่อมกำจัดความพอใจ
ในอารมณ์ที่วิจิตรเหล่านั้น” 2
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. ดังนั้น ท่านจึงไม่ควรยอมรับว่า “อายตนะ 5 เท่านั้นเป็นกาม”

กามกถา จบ

เชิงอรรถ :
1 กาม หมายถึงความกำหนัดด้วยอำนาจความดำริในวัตถุมีรูปร่างที่งดงาม เป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/63/
148, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/63/70) และเป็นชื่อเรียกกิเลสกามอีกชื่อหนึ่งในจำนวนชื่อเรียกกาม 18 ชื่อ (ดูเทียบ
ขุ.ม. (แปล) 29/1/2, ขุ.จู. (แปล) 30/8/66-67)
2 ดูเทียบ องฺ. ฉกฺก. (แปล) 22/63/572

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :551 }